วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

น้ำตกธารสวรรค์(ถ้ำหมูบ)


น้ำตกธารสวรรค์


น้ำตกธารสวรรค์ ตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 8 บ้านโนนหัวช้าง ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เกิดจากแอ่งน้ำธรรมชาติบนเทือกเขาภูพานคำ ไหลผ่านหินภูเขาซึ่งทำให้เป็นร่องน้ำที่คดเคี้ยวและสวยงาม อีกทั้งยังเป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ ให้นักท่องเที่ยวได้ชมทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ ยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ฤดูน้ำหลากระหว่างเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและพักผ่อนที่บริเวณน้ำตก ส่วนในฤดูแล้งจะมีน้ำปริมาณน้อยแต่จะคงธรณีสัณฐานถึงร่องรอยของน้ำตกให้เห็นสภาพอยู่อย่างเป็นธรรมชาติที่สวยงามหาดูยากมาก
น้ำตกธารสวรรค์ (ถ้ำหมูบ) เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งของตำบลโนนสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นลำธารน้ำตกขนาดปานกลาง มีเพิงหินวางทับซ้อนกันเป็นถ้ำเรียกว่า ถ้ำหมูบ (คำว่า "หมูบ" เป็นภาษาอีสาน ตรงกับคำว่า "หมอบ") อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูพานเก้า ภูพานคำ ในฤดูฝนซึ่งจะมีน้ำบริเวณลำธารน้ำตกเป็นจำนวนมาก องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสมบูรณ์กับกรรมการหมู่บ้านในตำบลร่วมกันพัฒนา และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเที่ยว

ถ้ำหมูบ เป็นถ้ำขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในท้องที่เดียวกันกับน้ำตกธารสวรรค์ ลักษณะเป็นเนินเตี้ย ๆ คล้ายหลังเต่า บริเวณปากถ้ำมีลำธารอันเป็นต้นกำเนิดลำห้วยคุมมุมไหลผ่าน ได้รับการบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า สมัยก่อนเป็นที่หลบพักอาศัยเป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ห่างจากอำเภอเขาสวนกวาง ไปทางด้านทิศตะว้ันตก ระยะทาง ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร

การวางแผนกลยุทธ์

การวางแผนกลยุทธ์

-ภารกิจ
รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ได้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-โครงร่างของบริษัท
ดำเนินการพัฒนาพื้นที่บนภูเขาสวนกวาง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางธรรมชาติและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวในเขตพื้นที่
-การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก
= จุดแข็ง
1.มีบุคลากรและเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ครบถ้วนหลากหลายและมีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมด้านการสื่อสาร และเทคโนโลยี
2.มีเอกลักษณ์เฉพาะด้าน ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสามารถพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว
จุดอ่อน
1.ประชาชนในพื้นที่ยังขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังขาดการอนุรักษ์สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
2.ขาดบุคลากรที่จะรับผิดชอบและดำเนินการในแต่ละด้านโดยตรงเกี่ยวกับงานบริการสาธารณะ เช่น ด้านนิติกรหรือฝ่ายกฎหมาย ด้านสาธารณสุข ฯลฯ
โอกาส
1.ขอนแก่นเป็นประตูสู่อินโดจีนและจีนตอนใต้ ตามโครงการแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(EWEC)และแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้(NSEC)
2.รัฐบาลสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ และถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น
วิกฤต
1.ความไม่ชัดเจนของการประสานงานและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
2.สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค ในระดับจังหวัด ส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่น
-การวิเคราะห์กลยุทธ์และทางเลือกของกลยุทธ์
= 1.พัฒนาภาวะผู้นำขององค์กรให้มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมภิบาล
2.พัฒนาสมรรถนะการทำงานของบุคลากรองค์การบริหารส่วนตำบลเขาสวนกวางทุกระดับและอย่างต่อเนื่อง
3.พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัยเพื่อการบริหารงานและการบริการประชาชน
-วัตถุประสงค์
= 1.เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสวนกวาง เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานในด้านต่างๆ
2.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายในอำเภอให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในระดับจังหวัดและในระดับประเทศ
3.เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/หมู่บ้าน/ประชาคมท้องถิ่น โดยชุมชน/หมู่บ้าน/ประชาคมท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
-แผน
= 1.พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภายในอำเภอให้เป็นที่รู้จักในระดับจังหวัด  และในระดับประเทศ
2.อนุรักษ์ สืบสาน ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีท้องถิ่น และค่านิยมที่ดีงาม
3.เสริมสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง มีสัมพันธภาพที่ดี เกิดความอบอุ่น ด้วยมิติทางศาสนา   ศิลปวัฒนธรรม
4.สงเคราะห์ และช่วยเหลือแก่ผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาสในด้านที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิต
-นโยบาย
ดำเนินการโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมในอำเภอให้สามารถ สัญจรและสามารถขนส่งผลผลิตทางการเกษตรและอื่นๆได้ตลอดฤดูกาล
-การปฏิบัติตามกลยุทธ์
= 1.ดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชน ประชาชน ประจำปี ภายในอำเภอรวมทั้งตั้งงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาหมู่บ้าน/ชุมชน ประจำปี
2.ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งและส่วนราชการภายในอำเภอจัดงานประเพณีเทศกาลไก่ย่างเขาสวนกวาง

น้ำตกตาดฟ้า อำเภอเขาสวนกวาง

น้ำตกตาดฟ้า


ลักษณะ     เป็นน้ำตกเล็กที่ไม่มีน้ำตลอดปี หน้าแล้งจะไม่มีน้ำหน้าฝนจะมีน้ำตกลงมาสวยงามมาก (ลักษณะคล้ายแก่งน้ำ)ประกอบด้วยโขดหินและชั้นหินหลาย

รูปแบบ
เหมาะสำหรับที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของหินได้เป็นอย่างดี  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอเขาสวนกวาง บริเวณภูเขาสวนกวาง ระยะทางห่างจากอำเภอประมาณ 4 กิโลเมตร

ลักษณะเด่นน้ำตกตาดฟ้าเกิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติบนเทือกเขาภูเขาสวนกวาง ลักษณะคล้ายแก่ง และบริเวณใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของถ้ำกินรี อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปวัดตาดฟ้า บ้านหนองตะนาน


วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

จารึกวัดศรีเมืองแอม


จารึกวัดศรีเมืองแอม

ชื่อจารึก : วัดศรีเมืองแอม
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ : ศิลาจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓
อักษรที่มีในจารึก : ปัลลวะ
ศักราช : พุทธศตวรรษ  ๑๒
ภาษา : สันสกฤต
ด้าน/บรรทัด : จำนวนด้าน ๑ ด้าน มี ๓ บรรทัด
วัตถุจารึกศิลา : ประเภทหินชนวนสีเขียวลักษณะวัตถุแท่งสี่เหลี่ยม ชำรุดขนาดวัตถุกว้าง ๓๐ ซม. ยาว ๗๘ ซม. หนา ๓๐ ซม.บัญชี/ทะเบียนวัตถุ๑) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ขก. ๑๕”
๒) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ กำหนดเป็น “จารึกวัดศรีเมืองแอม”
๓) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๕ (พฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๓๐) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓”

ปีที่พบจารึก : พุทธศักราช ๒๕๒๗
สถานที่พบ : วัดศรีเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
ผู้พบ : เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ
ปัจจุบันอยู่ที่ : วัดศรีเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
พิมพ์เผยแพร่ : ๑) จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), ๑๕๕-๑๕๗.
๒) วารสารศิลปากร ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๕ (พฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๓๐) : ๗๙-๘๔.

ประวัติ : ในบรรดาจารึกอักษรปัลลวะ ที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย มีจารึกกลุ่มหนึ่งจำนวน ๗ หลัก ซึ่งเป็นของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน มีรูปอักษรเหมือนกัน ข้อความเหมือนกัน ต่างกันเพียงข้อความที่กล่าวถึงสิ่งสร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาเท่านั้น กลุ่มจารึกดังกล่าวประกอบด้วย
๑. จารึกวัดศรีเมืองแอม (ขก. ๑๕) จังหวัดขอนแก่น (สร้างพระศิวลึงค์)
๒. จารึกปากน้ำมูล ๑ (อบ. ๑) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
๓. จารึกปากน้ำมูล ๒ (อบ. ๒) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
๔. จารึกวัดสุปัฏนาราม (อบ. ๔) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
๕. จารึกปากโดมน้อย (อบ. ๒๘) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระศิวลึงค์)
๖. จารึกถ้ำภูหมาไน (อบ. ๙) จังหวัดอุบลราชธานี (สร้างพระโค)
๗. จารึกสุรินทร์ (วัดชุมพล) จังหวัดสุรินทร์ (สร้างพระโค) (จารึกหลักนี้ สาบสูญไปแล้ว)
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเกี่ยวกับจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันที่จารึกข้อความเดียวกันนี้ ได้มีการศึกษากันมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ (ค.ศ. ๑๙๐๓) โดยพบว่าในประเทศลาวมีจารึกภูละคอน (Phou Lokhon) ซึ่งนายโอกุสต์ บาร์ต (Auguste Barth) ได้ทำการอ่านและแปล ตีพิมพ์ลงใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient, tome III : 1903 (พ.ศ. ๒๔๔๖) เรื่อง Inscription Sanscrite du Phou Lokhon (Laos) ต่อมา ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับจารึกที่พบในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้พบว่าที่จังหวัดอุบลราชธานีนี้ มีจารึกที่มีข้อความเหมือนกันกับจารึกภูละคอนจำนวน ๓ หลัก คือ จารึกขันเทวดา ๒ หลัก (จารึกขันเทวดานี้มี ๒ หลัก ต่อมา หอสมุดแห่งชาติ ตั้งชื่อใหม่ให้ว่า “จารึกปากมูล ๑ (อบ. ๑)” และ “จารึกปากมูล ๒ (อบ. ๒)” และ จารึกถ้ำปราสาท (บางครั้งเรียกกันว่า จารึกภูหมาไน (อบ. ๔) แต่เนื่องจากที่ภูหมาไนมีจารึกอีกหลักหนึ่ง มีข้อความเช่นเดียวกัน ทำให้มีการตั้งชื่อเรียกใหม่ คือ จากเดิมชื่อจารึกถ้ำปราสาท หรือ จารึกภูหมาไน (อบ. ๔) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “จารึกวัดสุปัฏนาราม (อบ. ๔)” ส่วนจารึกอีกหลักที่ภูหมาไนก็ได้เรียกว่า “จารึกภูหมาไน (อบ. ๙)” แทน)
ต่อมา เอริก ไซเด็นฟาเด็น (Erik Seidenfaden) ได้เขียนรายงานการสำรวจโบราณคดีใน ๔ จังหวัดในแถบอีสานใต้ของประเทศไทย โดยในส่วนที่เกี่ยวกับศิลาจารึกที่สำรวจพบนั้น ได้รับความช่วยเหลือจาก ศ. ยอร์ช เซเดส์ ทำการอ่านและแปล ซึ่งได้แก่ จารึกขันเทวดา และ จารึกถ้ำปราสาท โดยความช่วยเหลือแล้วนำไปตีพิมพ์ใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, 1922 (พ.ศ. ๒๔๖๕) ในบทความชื่อว่า Complément a l’inventaire descriptif des monuments du Cambodge pour les quatre provinces du Siam Oriental. อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ชะเอม แก้วคล้าย กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เขียนบทความเรื่อง ศิลาจารึกวัดสุปัฏนาราม ศิลาจารึกปากน้ำมูล ลงในวารสารศิลปากร ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔ หน้า ๔๗ ได้อ่านและแปลจารึกของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันจำนวน ๓ หลักขึ้นใหม่อีกครั้ง คือ
๑. จารึกปากน้ำมูล (อบ. ๑) (เดิมเรียกกันว่า จารึกขันเทวดา ถูกกล่าวถึงและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, 1922. ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “จารึกปากน้ำมูล ๑”
๒. จารึกปากน้ำมูล (อบ. ๒) (เดิมเรียกกันว่า จารึกขันเทวดา ถูกกล่าวถึงและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ใน Bulletin de Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, ๑๙๒๒. ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “จารึกปากน้ำมูล ๒”
๓. จารึกวัดสุปัฏนาราม (อบ. ๔) (เดิมเรียกกันว่า จารึกถ้ำปราสาท หรือ จารึกภูหมาไน ถูกกล่าวถึงและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ใน Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXII, 1922.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ กองหอสมุดแห่งชาติได้ตีพิมพ์หนังสือชุด จารึกในประเทศไทย จำนวน ๕ เล่ม โดยในเล่มที่ ๑ ได้มีการรวบรวมจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน (ศรีจิตรเสน) ที่พบในประเทศไทยทั้งของที่พบแต่เดิมและที่เพิ่งสำรวจพบใหม่ รวมจำนวนได้ ๔ หลัก ได้แก่ ๑) จารึกวัดศรีเมืองแอม (ขก. ๑๕) (สำรวจพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗)(๒) จารึกปากน้ำมูล ๑ (อบ. ๑) (๓) จารึกปากน้ำมูล ๒ (อบ. ๒) และ (๔) จารึกวัดสุปัฏนาราม ๑ (อบ. ๔)
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ชะเอม แก้วคล้าย กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เขียนบทความเรื่อง “ศิลาจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓” ตีพิมพ์ใน วารสารศิลปากร ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๕ (พฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๓๐) หน้า ๗๙-๘๔ โดยได้นำเสนอเปรียบเทียบคำอ่านและแปลของกลุ่มจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันจำนวน ๓ หลัก คือ
(๑) จารึกภูหมาไน (อบ. ๙) (๒) จารึกวัดศรีเมืองแอม (ขก. ๑๕) และ (๓) จารึกถ้ำเป็ดทอง (บร. ๔) (จารึกหลักนี้ ข้อความต่างออกไป แต่ก็ยังคงกล่าวสรรเสริญพระเจ้ามเหนทรวรมัน)
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๕ ชะเอม แก้วคล้าย ได้เขียนบทความเรื่อง “รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ศิลาจารึกปากโดมน้อย” และ “รายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ศิลาจารึกถ้ำภูหมาไน (ถ้ำปราสาท)” ลงในหนังสือ “โบราณคดีเขื่อนปากมูล” ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าวนี้ ได้กล่าวถึงภาพรวมของกลุ่มจารึก ศรีมเหนทรวมันนี้ด้วย

เนื้อหาโดยสังเขป : ข้อความในจารึกกล่าวถึงพระเจ้าจิตรเสน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงได้ชัยชนะเหนือกัมพูประเทศ และได้เฉลิมพระนามว่า “ศรีมเหนทรวรมัน” อีกทั้งโปรดให้สร้างรูปเคารพต่างๆ ในลัทธิไศวนิกายไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ ซึ่งในจารึกวัดศรีเมืองแอมนี้ เป็นการสร้างพระศิวลึงค์ ดังนั้น จากจารึกทั้ง ๗ หลักนี้ จึงเป็นหลักฐานอย่างดีว่า อารยธรรมแถบลุ่มแม่น้ำชี และลุ่มแม่น้ำมูลในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นั้น มีผู้นำของอาณาจักรนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย
ผู้สร้าง : ศรีมเหนทรวรมัน
การกำหนดอายุ : กำหนดอายุตามรูปแบบของตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นอกจากนี้ เนื้อความยังกล่าวถึงรัชสมัยของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน ซึ่งครองราชย์อยู่ราว พ.ศ. ๑๑๕๐-๑๑๕๙ ดังนั้น จึงอาจกำหนดอายุเป็นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ก็ได้เช่นกัน

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

ประวัติดงเมืองแอม


เมืองโบราณดงเมืองแอม ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

ประวัติความเป็นมา : ตำบลเมืองแอมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเขาสวนกวาง มีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 15 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่1 บ้านดงเมืองแอม หมู่2 บ้านโนนน้ำผึ้ง หมู่3 บ้านทุ่งบ่อ หมู่4 บ้านดงบง หมู่5 บ้านห้วยยาง หมู่6 บ้านโคกสูง หมู่7 บ้านหนองแวงเรือง หมู่8 บ้านหนองโน หมู่9 บ้านหนองคู หมู่10 บ้านคำสมบูรณ์ หมู่11 บ้านคำเจริญ หมู่12 บ้านคำแคน หมู่13 บ้านหนองแวงประชา หมู่14 บ้านทุ่งบ่อใหม่ หมู่15 บ้านห้วยยางศรีวิไล

สภาพทั่วไปของตำบล : สภาพทั่วไปเป็นที่ราบสูง และที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีแหล่งน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำห้วยเสือเต้น ลำห้วยคล่องโปรด


อาณาเขตตำบล : ทิศเหนือ ติดต่อ ต.นางิ้ว ต.ศรีสุขสำราญ ต.เขาสวนกวาง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น
ทิศใต้ ติดต่อ ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
ทิศตะวันออก ติดต่อ ต.เขาสวนกวาง ต.คำม่วง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น
ทิศตะวันตก ติดต่อ ต.นาคำ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

จำนวนประชากรของตำบล : จำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,567 คน เป็นชาย 4,254 คน เป็นหญิง 4,313 คน
จำนวนครัวเรือน 1,757 ครัวเรือน

ข้อมูลอาชีพของตำบล : อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน ทำไร

ข้อมูลสถานที่สำคัญของตำบล : 1.สถานีอนามัยบ้านดงบัง
2.สถานีอนามัยบ้านหนองแวงเรือ
3.วัด 12 แห่ง
4.โรงเรียน 11 แห่ง
5.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านคำสมบูรณ์, ศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กบ้านคำแคน, ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์



วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

สวนสัตว์ขอนแก่น


สวนสัตว์ขอนแก่นหรือชื่อเดิมคือ “สวนสัตว์เขาสวนกวาง” อยู่ในพื้นที่อุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบน ขอนแก่น – อุดรธานี 
เป็นพื้นที่ลักษณะภูเขาตั้งอยู่ในเขตเชื่อมต่อระหว่าง จ.ขอนแก่น และ จ.อุดรธานี โดยตั้งอยู่ใน อ.เขาสวนกวาง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องอาหาร - ไก่ย่างเขาสวนกวาง )

เดิมพื้นที่บริเวณภูเขาแห่งนี้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ โดยเฉพาะ เก้ง กวาง จำนวนมากจึงทำให้คนท้องถิ่นเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า "เขาแสนกวาง" และต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "เขาสวนกวาง" ในปัจจุบัน


หากคุณเป็นอีกคนที่มีโอกาสมาเยือนอำเภอเขาสวนกวางของจังหวัดขอนแก่น ขอแนะนำว่าคุณต้องไม่พลาดไปเยือน "อุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบนขอนแก่น - อุดรธานี" (Upper Esaan Wild Animal Adventure Park Khonkaen-Udonthani) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "สวนสัตว์เขาสวนกวาง" อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวชมธรรมชาติและสัตว์ป่า รวมไปถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญให้กับประชาชนได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

อุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบนขอนแก่น - อุดรธานี เป็นอุทยานสัตว์ป่าที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4,696 ไร่ เป็นสวนสัตว์เปิดในลักษณะอุทยานสัตว์ป่า (Adventure Park) มีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว โดยแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ค่ายเรียนรู้เยาวชน บริการเรือนพักอาศัย ศูนย์สัมมนาและส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


นอกจากนี้ภายในอุทยานสัตว์ป่ายังมีการจัดแสดงสัตว์ป่าโดยแข่งออกเป็นส่วนๆ ได้แก่

1. ส่วนแสดงสัตว์กีบประเภทกวาง อูฐ จิงโจ้ เนื้อทราย ส่วนแสดงสัตว์แอฟริกา
2. ส่วนแสดงสัตว์เล็ก เวทีแสดง ลานชมการแสดง เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เต้นท์พักแรม
3. ส่วนแสดงสัตว์น้ำซึ่งจะมีการจัดแสดงในรูปแบบอควาเรียม รวมถึงเครื่องเล่น และสวนน้ำเล็กๆ
4.ส่วนบริการร้านค้า ค่ายพักแรม บ้านพักรับรอง อาคารเอนกประสงค์ ลานจอดรถ ระบบคมนาคมภายใน และระบบสาธารณูปโภค อาคารศูนย์ประสานงานฯลฯ

สำหรับการเดินทางไปเที่ยวอุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบนขอนแก่น - อุดรธานี ค่อนข้างเดินทางสะดวกสบาย เนื่องจากถูกขนาบด้วยสนามบินถึง 2 แห่ง คือ สนามบินอุดรธานี และขอนแก่น หรือเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถโดยสารประจำทางจากตัวจังหวัดถึงอำเภอเขาสวนกวาง ตามถนนมิตรภาพ ระยะทาง ประมาณ 50 ก.ม.เท่านั้น หรือจะเดินทางโดยรถไฟก็ได้

วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

สวนสัตว์เขาสวนกวาง


สวนสัตว์เขาสวนกวาง
หากนึกถึงขอนแก่น หลายคนคงนึกไปถึงเสียงแคน ดอกคูณ และไดโนเสาร์ที่ภูเวียง แต่จะมีใครคิดถึง สวนสัตว์ แหล่งรวมจินตนาการของเราเมื่อครั้งยังเด็กกันหรือเปล่านะ สวนสัตว์เขาสวนกวาง เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น เพราะถ้าพูดถึงเขาสวนกวาง คุณคงต้องนึกถึงไก่ย่างเขาสวนกวาง ของดีมีชื่อ แถมยังรสชาติอร่อย สมกับคำกล่าวขานเสียจรb'อำเภอเขาสวนกวาง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น และยังเป็นที่ตั้งของ สวนสัตว์เขาสวนกวาง สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่ใครก็รู้จักนั่นเอง ปัจจุบันสวนสัตว์แห่งนี้ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสวนสัตว์ที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ 

     สวนสัตว์เขาสวนกวาง คือ
สถานที่ท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ อุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบน ขอนแก่น-อุดรธานี (สวนสัตว์เขาสวนกวาง) โดยอยู่ในสังกัดขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 27 เมษายน 2552 เนื้อที่ 3,338 ไร่ 

หลายคนที่ลังเลไม่แน่ใจว่าจะมาเที่ยว สวนสัตว์เขาสวนกวาง ดีหรือเปล่า มาแล้วจะเจอแต่กวาง หรือมีสัตว์อื่นๆบ้างมั้ย แน่นอนค่ะว่าภายในสวนสัตว์นั้นมีสัตว์มากมายหลากหลายชนิด ซึ่งจะมีการจัดแสดงโดยแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็น ส่วนแสดงสัตว์ตระกูลกวาง ซึ่งจะมีกวางหน้าตาน่ารักออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวมากมาย 

นอกจากนี้แล้ว อุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบน ขอนแก่น-อุดรธานี ยังมี กิจกรรมแค้มป์ปิ้งและค่ายเรียนรู้ ซึ่งไม่กิจกรรมต่างๆมากมายให้คุณได้เลือกทไ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางไกล เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่า และอื่นๆอีกมากมาย 

     เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว คุณคงตัดสินใจได้ไม่ยากนะคะว่าจะมาเที่ยว สวนสัตว์เขาสวนกวาง ดีหรือเปล่า สำหรับใครที่มีวันหยุดยาว สามารถแวะเวียนมายังสวนสัตว์แห่งนี้ได้เสมอค่ะ  สำหรับคนที่สนใจอยากมาเที่ยวสามารถ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
อุทยานสัตว์ป่าอีสานตอนบน ขอนแก่น-อุดรธานี (สวนสัตว์เขาสวนกวาง) 

เขาสวนกวาง ขอนแก่น


อำเภอเขาสวนกวางเป็นหนึ่งในยี่สิบหกอำเภอของจังหวัดขอนแก่น เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอน้ำพอง ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นอำเภอที่มีเส้นทางผ่านของการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย สู่แหล่งอินโดจีนเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงของอาหารพื้นเมืองอีสาน คือ ไก่ย่างเขาสวนกวางอันเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างชาติ

ประวัติความเป็นมา
เดิมนั้น อำเภอเขาสวนกวางขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยเหตุที่พื้นที่และเขตการปกครองของอำเภอน้ำพองในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๑ พื้นที่กว้างขวางยากลำบากต่อราษฎรในการเดินทางติดต่อราชการกับส่วนราชการต่าง ๆ ณ ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว ๒๖ ๖๑ กิโลเมตร ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ การค้าของราษฎรบริเวณท้องที่ต่าง ๆ บริเวณทิศเหนือของอำเภอ(อำเภอน้ำพองขณะนั้น) อันประกอบด้วยตำบลเขาสวนกวาง ตำบลนางิ้ว ตำบลดงเมืองแอม ความเจริญก้าวหน้าและเป็นแหล่งชุมชนใหญ่อีกแห่งหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศยกฐานะท้องที่ตำบลต่าง ๆ ในขณะนั้นขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า กิ่งอำเภอเขาสวนกวางเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ โดยที่ตั้งศูนย์ราชการ ได้แก่ บริเวณบ้านทางพาด บ้านหนองกุง บ้านเขาสวนกวาง ริมถนนมิตรภาพ สายขอนแก่น อุดรธานี ตรงหลักกิโลเมตร ที่ ๔๙ เป็นที่ตั้งกิ่งอำเภอ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๘ เมื่อสภาพของท้องที่มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ชุมชนมีจำนวนหนาแน่น ประกอบกับมีการแยกท้องที่การปกครองออกจากตำบลนางิ้วเป็นตำบลโนนสมบูรณ์ และท้องที่ตำบลเขาสวนกวางออกเป็นตำบลคำม่วง จึงได้มีการยกฐานะเป็นอำเภอเขาสวนกวาง
ความเป็นมาของชื่ออำเภอ เขาสวนกวางไม่มีหลักฐานหรือเอกสารยืนยันได้แน่นอน
ว่าเป็นมาอย่างไร คงมีเพียงคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนที่บอกเล่าต่อ ๆ มาว่า เดิมมีพื้นที่อำเภอเขาสวนกวางบริเวณตำบลเขาสวนกวาง เป็นพื้นที่อันประกอบด้วยภูเขาเตี้ย ๆ ประกอบกับป่าดงดิบมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าจำพวกกวาง ละอง ละมั่ง ชาวบ้านที่ขึ้นไปล่าสัตว์และหาของป่าจึงเรียกภูเขาบริเวณดังกล่าวว่า เขาสวนกวางครั้นต่อมาเมื่อราษฎรที่อพยพมาจากพื้นที่น้ำท่วมเหนือบริเวณก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ หรือ พองหนีบเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น จึงปรากฏเป็นชุมชน หมู่บ้านที่มีประชากรหนาแน่น จนในที่สุดมีการยกฐานะชุมชนดังกล่าวขึ้นเป็นกิ่งอำเภอและอำเภอตามลำดับดังกล่าวมา

ตำแหน่งที่ตั้ง
อำเภอเขาสวนกวาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น ๕๐ กิโลเมตร จุดที่ตั้งอำเภอปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลคำม่วง บนพิกัดที่ TD ๗๒๕๖๔๘ ตามแผนที่ระวาง ๕๕๔๓ TT อำเภอหนองแสง และบ้านกุดหมากไฟ L๗๐๑๗

เนื้อที่
อำเภอเขาสวนกวาง มีเนื้อที่ทั้งหมด ๓๓๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒๐๖,๒๕๐ ไร่

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตอำเภอโนนสะอาด อำเภอหนองวัวซอ อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี
ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอำเภออุบลรัตน์ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่ ลักษณะพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขา ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ราบเชิงเขาในเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขาสวนกวาง มีภูเขาในเขตพื้นที่ คือ ภูเก้า ภูพานคำ และภูเขาสวนกวาง ไม่มีน้ำไหลผ่าน มีเพียงลำห้วยเสือเต้นที่มีน้ำไหลตลอดปี
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว
การปกครอง
แบ่งการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ประกอบด้วย ๕ ตำบล ๕๖ หมู่บ้าน ดังนี้
๑. ตำบลเขาสวนกวาง มี ๑๑ หมู่บ้าน
๒. ตำบลดงเมืองแอม มี ๑๕ หมู่บ้าน
๓. ตำบลคำม่วง มี ๑๓ หมู่บ้าน
๔. ตำบลโนนสมบูรณ์ มี ๑๐ หมู่บ้าน
๕. ตำบลนางิ้ว มี ๗ หมู่บ้าน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มีเทศบาล ๒ แห่ง คือ เทศบาลตำบลเขาสวนกวาง เทศบาลโนนสมบูรณ์ และมีองค์การบริหารส่วนตำบล ๔ แห่ง
ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี
อำเภอเขาสวนกวาง มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายคลึงกับอำเภออื่น ๆ ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง กล่าวคือ การดำเนินชีวิตตามหลักฮิตสิบสองคลองสิบสี่ จะมีบุญประเพณีเป็นประจำทุกเดือนตามที่เคยปฏิบัติมา นอกจากนี้มีงานเทศกาลประจำอำเภอคือ งานเทศกาลไก่ย่างเขาสวนกวาง ซึ่งจัดขึ้นบริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเขาสวนกวาง กำหนดจัดงานสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม ก่อนวันเด็ก ๑ วัน วันเด็ก และหลังวันเด็ก รวม ๓ วัน ๒ คืน มีกิจกรรม คือ
ภาคเช้า มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ไก่ ขบวนแห่ แข่งขันกินไก่ ประกวดร้านไก่ย่าง ประกวดการแข่งขันส้มตำ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ประกวดแข่งขันดนตรีพื้นเมือง กิจกรรมแสดง ผลิตภัณฑ์ ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ ออกร้านแสดงผลงานของหน่วยงาน และงานกิจกรรมวันเด็ก
ภาคกลางคืน มีการประกวดเทพีไก่ การแสดงของเยาวชน มหรสพสมโภชตลอดคืน

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ
๑. น้ำตกตาดฟ้าและถ้ำกินรี

๒. แหล่งโบราณคดีดงเมืองแอม
๓.น้ำตกธารสวรรค์
๔. อุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคe
๕. อ่างเก็บน้ำห้วยคุมมุม
๖. ถ้ำหมูบ
๗. สวนสัตว์เขาสวนกวาง